วันพฤหัสบดีที่ 15 มกราคม พ.ศ. 2552

ประวัติวันเด็ก





ความเป็นมา
นายวี เอ็ม กุลกานี ผู้แทนองค์การสหพันธ์เพื่อสวัสดิการเด็กระหว่างประเทศ เป็นผู้เสนอต่อกรมประชาสงเคราะห์ ให้มีการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาชนได้เห็นความสำคัญของเด็ก และเพื่อกระตุ้นเตือนให้เด็กได้ตระหนักถึงความสำคัญของตนเอง
งานวันเด็กแห่งชาติในเมืองไทยครั้งแรกนั้น จัดขึ้นในวันจันทร์แรกของเดือนตุลาคม พ.ศ.2498 และได้จัดติดต่อกันมาเป็นประจำทุกปี จนถึง พ.ศ.2506 จึงมีความคิดว่าควรจะเปลี่ยนไปจัดงานวันเด็ก ในวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เนื่องจากเห็นว่าเป็นช่วงที่พ้นจากฤดูหนาวมาแล้ว และเป็นวันหยุดราชการทำให้เกิดความสะดวกด้วยประการทั้งปวง
แต่ในปีถัดมา คือปี พ.ศ.2507 ไม่สามารถจัดงานวันเด็กได้ทัน จึงได้เริ่มจัดในปี พ.ศ.2508 ซึ่งถือเอาวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนมกราคม เป็นวันเด็กแห่งชาติ มาจนถึงบัดนี้
รัฐบาลได้จัดให้มีคณะกรรมการจัดงานวันเด็กแห่งชาติขึ้นมาคณะหนึ่ง ทำหน้าที่ประสานงานกับหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐบาล รัฐวิสาหกิจ และเอกชน กำหนดให้มีการฉลองวันเด็กแห่งชาติ ทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค จุดประสงค์เพื่อให้เด็กทั่วประเทศทั้งในระบบโรงเรียนและนอกระบบโรงเรียน ได้รู้ถึงความสำคัญของตน เกี่ยวกับสิทธิ หน้าที่ ความรับผิดชอบ ระเบียบวินัย ที่มีต่อตนเองและสังคม มีความยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
ในวันเด็กแห่งชาติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จะพระราชทานพระบรมราโชวาท สมเด็จพระสังฆราชเจ้า ทรงโปรดระทานพระคติธรรม และ ฯพณฯ ท่านนายกรัฐมนตรี จะมอบคำขวัญวันเด็กให้กับเด็กไทยทุกปี
สำหรับคำขวัญวันเด็กประจำปีนี้ที่นายกรัฐมนตรี ชวน หลีกภัย มอบให้กับเด็กๆ คือ "มีวินัย ใฝ่เรียนรู้ คู่คุณธรรม นำประชาธิปไตย"
เด็กคือทรัพยากรที่สำคัญยิ่งของประเทศชาติ ซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาชาติ บ้านเมือง ให้เจริญรุ่งเรืองก้าวหน้า และมั่นคงอีกทั้งเป็นผู้ที่จะต้องเติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ในวันข้างหน้า เพื่อทำหน้าที่ดูแลสังคม ตลอดจนเศรษฐกิจ วัฒนธรรม ความเปลี่ยนแปลง และอื่นๆ ฯลฯ
ดังนั้น ทุกสังคมจึงให้ความสำคัญแก่เด็ก และจัดให้มีวันเด็กขึ้นทุกปี เพื่อให้เด็กรูถึงความสำคัญของตนเอง จะได้ประพฤติปฏิบัติตนให้สมกับเป็นผู้ที่มีความสำคัญของประเทศชาติ ด้วยการตั้งใจใฝ่เรียนรู้ ประพฤติปฏิบัติตนอยู่ในระเบียบวินัย รู้จักการใช้เวลา ความคิด มีความขยันหมั่นเพียร มีความรับผิดชอบ และซื่อสัตย์สุจริต ฯลฯ

กิจกรรม
ข้อเสนอแนะและตัวอย่างกิจกรรมในการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ เช่น การจัดประชุม สัมมนา ในเรื่องบทบาทและหน้าที่ของเด็กที่พึงปฏิบัติต่อสมาชิกในครอบครัว หรืออาจจะมีการจัดกิจกรรมพิเศษสำหรับเด็ก มอบของขวัญในโอกาสวันสำคัญนี้ให้แก่เด็ก ๆ ที่มีความประพฤติดี และ กิจกรรมอื่น ๆ ที่เหมาะสม เป็นต้นความหมายของวันเด็ก

วัตถุประสงค์ของการจัดงานวันเด็กแห่งชาติ
1. เพื่อให้ประชาชนได้ตระหนักถึงความสำคัญของเด็ก สนใจในการเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนเด็ก และช่วยเหลือสงเคราะห์เด็กเป็นพิเศษ
2. เพื่อให้เด็กและและเยาวชนยึดมั่นในสถาบันชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุข
3. เพื่อให้เด็กรู้จักหน้าที่ของตน และอยู่ในระเบียบวินัยอันดี
4. เพื่อเผยแพร่ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิของเด็ก

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น